วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

ส้มต้นสุดท้ายที่ปลายสวน




“ส้มเขียวหวาน ถือว่าเป็นผลไม้ที่หากินได้ง่ายในบ้านเรา มีให้กินตลอดทุกฤดูกาล แถมยังเป็นผลไม้ที่มีราคาถูก และอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี ซึ่งช่วยป้องกันโรคหวัด ลดการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด บรรเทาอาการกระหาย ทำให้ระบบการย่อยอาหารเป็นปกติ รวมทั้งมีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส และมีกรดอินทรีย์อีกหลายชนิด ส้มเขียวหวาน จึงถือว่าเป็นผลไม้ที่ทรงคุณค่ามากมายเลยทีเดียว”

หากเราเดินไปในตลาด เราจะพบส้มมากมายหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือกซื้อ ไม่ว่าจะเป็นส้มสายน้ำผึ้ง ส้มเขียวหวาน ส้มโชกุน หรือแม้แต่ส้มสายพันธุ์จากต่างประเทศ แต่หากย้อนไปดูตลาดส้มเขียวหวานในเมืองไทยเมื่ออดีต ซึ่งเด็กๆ รุ่นปัจจุบันคงไม่เคยรู้มาก่อนว่า จริงๆ แล้วหนึ่งในส้มเขียวหวานที่ได้ชื่อว่ารสชาติอร่อยที่สุดและมีชื่อเสียงที่ สุดต้องยกให้ “ส้มเขียวหวานบางมด” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ส้มบางมด” เหตุ ที่ส้มบางมดอร่อยนั้นเพราะว่า เนื้อส้มจะนิ่ม ฉ่ำน้ำ และมีรสชาติหวานจัดอมเปรี้ยวเล็กน้อย ซึ่งนับว่าเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของส้มบางมดเลยทีเดียว แต่ใครจะคิดหละว่าในวันนี้ ส้มบางมดแท้ๆ กลับหายากเต็มที

“ส้มบางมด” ที่เคยมีชื่อเสียงเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมานั้น ปลูกกันมากในตำบลบางมด (อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี) และเป็นที่มาของชื่อส้มบางมด โดยสันนิษฐาน ว่าบริเวณนี้มีทรัพยากรดินอันอุดมสมบูรณ์ของดินตะกอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ดินมีการสะสมของธาตุอาหารสูง รวมทั้งการมีพื้นที่ติดกับชายทะเลที่มักเกิดปรากฎการณ์น้ำขึ้นน้ำลง นานวันเข้าดินจึงได้รับอิทธิพลจากความเค็มของน้ำกร่อยผสมผสานกัน ทำให้ผลไม้หลายชนิดที่ปลูกมีรสชาตินิ่มนวลและหวานแหลมเป็นพิเศษ เมื่อผลไม้เริ่มสุก จะมีมดมากินผลไม้ ทำให้สามารถพบเห็นมดในพื้นที่สวนได้อย่างมากมาย แต่ปัจจุบันสวนส้มบางมดเหลือเพียงไม่กี่สวนเท่านั้น จนทำให้หลายคนคิดว่า ส้ม บางมดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว หากเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุใดจึงยังพบเห็นส้มบางมดวางขายอยู่ทั่วไป หรือส้มบางมดที่วางขายอยู่เหล่านั้น ถูกเอาชื่อไปแอบอ้าง เพราะเมื่อเราชิมแล้วบางครั้ง จะรู้สึกได้เลยว่ารสจืด ไม่จัด ไม่เหมือนส้มบางมดที่เคยกินเมื่อก่อน

แต่จากการศึกษาทำผู้เขียนก็ได้ทราบว่า เหตุที่ทุกวันนี้ “ส้มบางมด” คลาย ชื่อเสียงเนื่องจากปริมาณการผลิตที่ลดลงไปนั้น ก็เป็นเพราะว่า แหล่งเพาะปลูกส้มบางมดประสบกับปัญหาหนักที่รุมเร้าหลากหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมหนัก รวมถึงปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้หลายต่อหลายครั้งทำให้ต้นส้มที่ถูกน้ำท่วมเป็นเวลานาน รากเน่าและยืนต้นต้นตายในที่สุด ซึ่งผลกระทบใหญ่ที่สุดที่ตามมาคือ เกษตรกรประสบภาวะขาดทุน ไม่สามารถฟื้นตัวและกลับมาตั้งต้นได้อีกครั้ง ชาวสวนส่วนใหญ่จึงจำใจขายสวนส้มบางมดให้กับนายทุนเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ ประกอบกับการขยายตัวของสังคมเมืองไล่เข้ามา พื้นที่ที่เคยเป็นสวนส่วนใหญ่จึงถูกขายไปกลายเป็นพื้นที่สร้างหมู่บ้านจัด สรรและโรงงาน ยิ่งทำให้ย่านบางมดแหล่งที่เคยเป็นที่ปลูกส้มบางมดอันลือชื่อ แทบจะกลายเป็นเพียงเรื่องให้เล่าขานกัน แต่ในตอนนั้น ยังมีเกษตรบางส่วนได้ไปหาพื้นที่ทำสวนส้มแหล่งใหม่ เช่น รังสิต กำแพงเพชร พิจิตร โดยนำภูมิปัญญาเดิมเมื่อตอนที่เคยทำสวนส้มบางมดไปใช้กับสวนส้มในแหล่งใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวสวนส้มบางมดแท้ ๆ ที่ไม่ได้ทิ้งถิ่นฐานไป เนื่องจากยังมีความผูกพันกับสวนส้มบางมดที่เคยอยู่ ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะฟื้นฟูสวนส้มบางมดให้กลับมาอีกครั้ง ทำให้สวนส้มบางมดยังไม่สูญหายไปหมดอย่างที่เราหลายๆ คนนึกถึง ถึงแม้จะไม่เฟื่องฟูเหมือนเมื่อก่อนก็ตาม แต่ผู้เขียนเชื่อว่า หากพวกเราพยายามช่วยกันส่งเสริม รับรองว่าอีกไม่นาน พวกเราจะได้กลับมารับประทานส้มบางมดรสชาติหวานจัดจ้านเหมือนเดิมแน่นอน

ลุงอำพล และป้ามาลี ขวัญบัว อายุกว่า 55 ปี สองสามีภรรยาลูกหลานย่านบางมดตัวจริงที่ยังคงทำสวนส้มบางมดอยู่ทุกวันนี้ บนพื้นที่เช่ากว่า 5 ไร่ แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน ในลักษณะสวนเกษตรผสมผสาน โดยอาศัยภูมิปัญญาที่ได้รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ป้ามาลีเล่าว่า “ทุกวันนี้ทำด้วยใจ อยากให้รุ่นลูกหลานได้กินส้มบางมดแท้ ๆ เน้นรอด ไม่เน้นรวย เพราะในหลวงเมตตา สร้างทำนบกั้นน้ำเค็ม พวกเราจึงมีทุกวันนี้” นอกจากนั้น ป้ามาลีได้เล่าว่า รสชาติส้มบางมดทุกวันนี้ ไม่เข้มข้นเหมือนในอดีต เนื่องจาก ปัจจุบันเรากินผลจากต้นส้มสาว อายุ 3-4 ปี และเก็บเมื่อผลส้มอายุ 8-9 เดือน เท่านั้น ซึ่งต่างจากในอดีตที่เก็บผลส้มเมื่อตอนอายุ 12 เดือน และแถมยังต้องเก็บเมื่อต้นส้มอายุ 5 ปี ขึ้นไปอีกด้วย แต่เนื่องจากปัจจุบันย่านบางมดประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำเค็ม และปัญหาการระบาดของโรคกรีนนิ่งซึ่งรุนแรง ทำให้ต้นส้มตายเมื่ออายุ 3 ปี หรือเริ่มติดผล

ลุงสุพร และป้าบุญช่วย วงศ์จินดา อายุกว่า 50 ปี เจ้าของ “สวนส้มในฝัน” แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน ทุกวันนี้ลุงกับป้าเช่าพื้นที่กว่า 10 ไร่ ทำสวนเกษตรผสมผสาน เลี้ยงปลาในร่องสวน และปลูกผักไว้กินเอง และเป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่พยายามฟื้นฟูสวนส้มบางมดให้กลับมาอีกครั้ง โดยลุงเล่าให้ฟังว่า “ลุงเป็นคนนครปฐม ในชีวิตผ่านเรื่องราวมามากมาย แต่งงานกับป้าบุญช่วย (สกุลเดิม โกมลวิทย์) ซึ่งเป็นลูกหลานของชาวสวนย่านบางมดและปลูกส้มเก่งมาก แต่ในปี พ.ศ. 2526 เกิดน้ำท่วมใหญ่ เลยพากันเจ๊งหมดเลย ตอนนั้นน้ำท่วมเสร็จ น้ำเค็มก็หนุนขึ้นมา มันจมอยู่ก้นคลอง ดูด้านบนไม่รู้หรอก ส้มมันก็ดูดน้ำเค็มไว้ พอฝนตกห่าเดียว ร่วงหมดเลย เช้าวันรุ่งขึ้นรากก็เน่าหมด” จากเหตุการณ์ครั้งนั้นลุงสุพรและป้าบุญช่วยได้เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ป้าบุญช่วยเล่าว่า “ ปีนั้นป้าขายส้มได้แพงมาก 3 ลำ (เรือ) แสน บาทเพราะน้ำมันท่วม แต่สวนเราอยู่ไกลเลยไม่เป็นไร คราวนั้นโละหนี้ได้เยอะ เงินก็ยังเหลือใช้อีกบานเลย” หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ลุงสุพรและป้าบุญช่วยก็ยังคงทำสวนส้มบางมดเรื่อยมา แต่น้ำท่วมใหญ่ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2536 ทำให้สวนส้มบางมดรุ่นสุดท้ายตายหมด

แต่ เมื่อน้ำลดระดับลงแล้ว น้ำในคลองบางมดและในร่องสวนกลายเป็นน้ำกร่อยจึงไม่เหมาะกับการปลูกส้มบางมด ปี พ.ศ. 2538 ลุงกับป้าจึงได้เริ่มต้นทำสวนกล้วยน้ำว้าตามโครงการปลูกกล้วยน้ำว้าของ สมเด็จย่า และเริ่มกลับมาปลูกส้มบางมดอย่างจริงจังตอนปี 2541 ก่อนหน้านั้นลุงฝันว่าในหลวงท่านเอากิ่งส้มให้ 1 กิ่ง ท่านบอกว่า “ทำให้ได้นะลูก ถ้าพ่อให้ต้องทำได้” ลุงเลยเชื่อและพยายามทำกันเรื่อยมา รวมถึงได้ตั้งปณิธานไว้ว่า สวนฉันจะเป็นโครงการตามรอยพระบาท เน้นเศรษฐกิจพอเพียง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2549 ลุงสุพร ได้เข้าเป็นสมาชิกของกล่มเกษตรพัฒนาสวนส้มบางมดในฐานะรองประธาน โดยการชักชวนของลุงอำพล ขวัญบัว (ประธาน)

ถึง แม้ว่าทุกวันนี้ได้มีการฟื้นสวนส้มบางมดให้กลับคืนมา และมีหน่วยงานให้ความสนใจ อาทิ การสร้างประตูกั้นน้ำเค็มของมูลนิธิชัยพัฒนา การสนับสนุนกิ่งพันธุ์ส้มของสำนักงานเขตบางขุนเทียนและสำนักงานเขตจอมทอง การกำหนดให้ส้มบางมดเป็นพืชนำร่องในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ของสำนักงานเขตจอมทอง แต่ชาวสวนส้มบางมดยังคงประสบกับปัญหาต้นทุนการผลิตต่าง ๆ อาทิ ค่าปุ๋ยเคมี ค่ายากำจัดศัตรูพืช และค่าน้ำมัน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัญหาน้ำเสีย น้ำเน่า ในคลองบางมด รวมไปถึงการเช่าที่ดินทำสวน โดยลุงสุพรเล่าให้ฟังว่า “เรื่องที่เช่าทำให้พวกเราไม่กล้าลงทุนอะไรไปมากนัก ได้แต่ปลูกแซมต้นที่ตายไป คือเราทำสัญญาปีต่อปี เขาไม่ให้ขุดดิน ขุดอะไรมาก แล้วก็ไม่แน่ว่าจะขายที่ไปตอนไหน ถ้าเราลงส้มไปเต็มที่ เกิดเจ้าของที่เลิกให้เช่า เราก็เจ๊ง เพราะในสัญญาเขาระบุไว้เลย ห้ามเรียกร้องอะไร อันนี้เป็นปัญหามาก เพราะปลูกส้มมันต้องใช้เวลา มันต่างจากปลูกอย่างอื่น และเราไม่มีที่ทำกินกัน เพราะเขาจะขายกันหมดแล้ว”  ซึ่งสอดคล้องกับความรู้สึกของ

อาสัมพันธ์  มีบรรจง อายุกว่า 40 ปี ชาวสวนส้มบางมด แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง อาสัมพันธ์เล่าว่า เมื่อความเจริญมาเยือน สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ “ทำส้มทั้งปีไม่รวย แต่ขายที่ดินวันเดียวรวยเร็วกว่า” นอกจากนี้ อาสัมพันธ์ได้พูดถึงภาพสมัยเด็กที่จำได้คือ สวนตัวเองเป็นส้มบางมด รอบสวนเป็นมะพร้าว จึงมีความผูกพันกับวิถีการเกษตร ในขณะที่แม่ไม่อยากให้ทำสวน กลัวลูกลำบาก จึงส่งให้เรียนครูตามความคิดที่ว่า “ต้องเป็นเจ้าคนนายคน” เมื่อเรียนจบแล้ว อาสัมพันธ์ได้รับราชการเป็นครูกว่า 25 ปี จึงลาออกมาทำสวนวนเกษตรตามที่ฝันไว้บนแผ่นดินอันเป็นมรดกของแม่ เป็นการทำสวนที่อาศัยภูมิปัญญาและการค้นคว้าหาความรู้ เรียกว่า “ลองผิด ลองถูก” ด้วยตัวเอง ดีแล้วจึงบอกต่อ รวมทั้ง “พยายามอ่านมาก ๆ เชื่อไม่เชื่อลองดู” โดยใช้วัตถุดิบง่ายที่มีในสวนหากจำเป็นหรือขาดจึงซื้อหา

ดัง นั้นเมื่อพวกเราพูดถึงว่า จะทำอย่างไรให้สวนส้มในย่านบางมดอยู่ได้อย่างยั่งยืน ลุงอำพลและป้ามาลี จึงให้ข้อเสนอแนะว่า “อยากให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการเรื่องโซนนิ่งพื้นที่สีเขียว โดยรับซื้อพื้นที่สวนที่ปล่อยรกร้างที่รอขายให้กับนายทุนหรือนายหน้า เพื่อนำไปจัดสรรให้ชาวสวนคนละ 3 ไร่ ทำการเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าหน่วยงานช่วยอย่างจริงจัง ส้มบางมดจะยั่งยืน” สำหรับความรู้สึกของลุงสุพรนั้น เล่าว่า “ชาว สวนต้องเน้นชีวภาพ ปรับปรุงสภาพดินเพราะดินเราแข็งมาก ถ้าดินร่วนซุยดี รากเจริญดี และอยากให้ทุกคนทำตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งอยากให้รัฐช่วยดูแลเรื่องน้ำ เพราะถ้ามีน้ำดีอนาคตสวนส้มก็ยังมีอยู่” ในขณะที่อาสัมพันธ์ได้ให้แง่คิดว่า “อาชีพการเกษตรในสังคมเมืองมีความเสี่ยง เกษตรกรซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติควรปรับตัว หน่วยงานภาครัฐควรคำนึงถึงการจัดการผังเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรโดยตรง” ถึงแม้ปีนี้สวนส้มบางมดของอาสัมพันธ์และชาวสวนคนอื่นในพื้นที่เขตจอมทองต้อง ประสบผลส้มร่วง เนื่องจากฝนตกติดต่อกันหลายวัน ชาวสวนไม่สามารถสูบน้ำออกได้ทัน เพราะคลองที่เคยเป็นแหล่งรับน้ำถูกถมเพื่อสร้างบ้านเรือนและถนนหนทาง ต้นส้มจึงดูดน้ำเข้าสู่ลำต้นอย่างต่อเนื่องและมากเกินไป ด้วยกลไกธรรมชาติต้นส้มจึงสลัดลูกทิ้ง แต่ถึงกระนั้นอาสัมพันธ์และชาวสวนก็ยังภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟู สวนส้มบางมด

 เมื่อ ได้อ่านมาถึงตรงนี้ผู้เขียนเองอยากจะบอกเหลือเกินว่า ถึงแม้ในปัจจุบันส้มบางมดจะได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูและสนับสนุนจากหลายหน่วย งาน รวมถึงได้ถูกยกให้เป็นพืชนำร่องในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในฐานะที่ใกล้ จะสูญพันธุ์ รวมถึงมีชาวสวนจำนวนหนึ่งที่มีใจรักและผูกพันกับส้มบางมดช่วยกันปลูกฟื้นฟู เพื่อเป็นมรดกไว้ให้ลูกหลานก็ตาม แต่มันจะประสบความสำเร็จได้ยากหรือไม่ได้เลย หากพวกเราทุกๆ คนไม่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ด้วยวิธีง่ายๆ ที่เราจะช่วยกันไดก็คือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างประหยัด ช่วยกันดูแล และรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่ดีตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น